ประวัติความเป็นมา

อ า ห า ร ไ ท ย ภ า ค อี ส าน เพลินตาปราสาทหิน เยือนถิ่นโบราณสถาน เก่ากาลประวัติศาสตร์ ผุดผาดสาวเรณู สวยหรูไหมแพรวา
งามตาน้ำตกใส ป่าใหญ่สวย รวยดอกไม้ ทะเลหมอกภูเขา หนาวสุดแห่งสยาม
อีสาน เป็นดินแดนที่แห้งแล้งกันดารที่สุดของประเทศไทย บทเพลงของดินแดนอีสานจึงมักบรรยายถึงความทุกข์ยากแสนเข็ญ นาแล้ง ข้าวกล้าเก็บเกี่ยวได้ไม่พอกิน หลาย ๆ ครอบครัวจึงต้องทิ้งเมีย ทิ้งลูก มุ่งหน้ามาเป็นกรรมกรขายแรงงานในเมือง แม้ว่าอีสานจะอดอยากเพียงไร ชาวบ้านก็ต้องดิ้นรนหาอาหารเพื่อดำรงชีวิตกันต่อไป อาหารพื้นเมืองของชาวบ้านแถบอีสานจึงมีอาหาร พวกแมลงหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น จิ้งหรีด มดแดง ตั๊กแตน จักจั่น ดักแด้ แมงกุดจี่ แมงกินูน ฯลฯ แม้ว่าหลาย ๆ คนได้ยินแล้วเกิดความรู้สึกแตกต่างกันไป แต่แมลงเหล่านี้คือแหล่งโปรตีนที่หล่อเลี้ยงชีวิตเด็ก ๆ ชาวอีสานเติบโตขึ้นมาได้
                อาหารอีสานนอกจากจะมีแมลงแล้ว ยังใช้เนื้อสัตว์ทีหาได้ในท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น ปลา ซึ่งจะรับประทานตั้งแต่เป็นลูกปลา เรียกว่า ปลาลูกครอก (ลูกปลาช่อน) จนปลาตัวโต กบ ก็เช่นเดียวกันรับประทานตั้งแต่ลูกกบซึ่งเรียกว่า ฮวก คือลูกอ๊อด ที่กำลังจะกลายเป็นกบ เริ่มมีขา แต่ก็ยังมีหาง ทางอีสานเรียกว่า ฮวก กุ้งฝอย อึ่งอ่าง ปูนา หอยโข่ง หอยขม สัตว์อื่น ๆ เท่าที่หาได้ เช่น กระต่าย หนูนาแย้ กิ้งก่า งู จนกระทั่งนกต่าง ๆ ไก่ เป็ด หมู เนื้อ บ้าง
                คนอีสานจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก และโดยทั่วไปจะนึ่งข้าวเหนียวด้วยหวด หวด คือ ภาชนะที่เป็นรูปกรวย ทำด้วยไม่ไผ่ ซึ่งจะต้องใช้คู่กับ หม้อทรงกระบอก คนอีสานจะต้องแช่ข้าวเหนียวดิบกับน้ำพอท่วมไว้ตอนกลางคืน พอรุ่งเช้าจะนำหม้อทรงกระบอกใส่น้ำตั้งไฟ กะให้น้ำอยู่ต่ำกว่าก้นหวด พอน้ำเดือดจะสงข้าวเหนียวที่แช่ไว้ใส่หวด แล้วยกหวดวางบนหม้ออีกที หาฝาหม้อปิดข้าวเหนียวไว้ ไอน้ำที่พุ่งขึ้นมาจะทำให้ข้าวเหนียวสุก และมีกลิ่นหอมของไม้ไผ่ติดมาด้วย พอข้าวเหนียวสุก ใช้ไม้พายกลับข้าวเหนียวข้างล่างขึ้นมาข้างบน แล้วปิดฝาไว้ ข้าวเหนียวก็จะสุกทั่วกัน